นโยบายการบริหารงานกระทรวงสาธารณสุข
โดยนายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข
“เราจะร่วมมือกันสร้างความสมัครสมานสามัคคีในองค์กร มีความเป็นพี่เป็นน้องเคารพ และให้เกียรติซึ่งกันและกัน และนำนโยบายของรับบาลของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไปปฏิบัติ ยังคงยึดแนวทางการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (ด้านสาธารณสุข) โดยขับเคลื่อนค่านิยมองค์กร MOPH บนหลักการของความยังยืนและมุ่งผลลัพธ์ที่ประขาชนจับต้องได้ เพื่อสร้างการยอมรับ ความเชื่อถือของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ”
โดยเน้นแนวทางการดำเนินงานดังนี้
1.ร่วมกันดำเนินโครงการจิตอาสา ทำความดีด้วยหัวใจ โครงการพระราชดำริ โครงการเฉลิมพระเกียรติและโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ พร้อมทั้งติดตามการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง
2.พัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ คนไทยทุกคนมีทีมหมอครอบครัว ให้การรักษาโรคพื้นฐาน ให้คำปรึกษาป้องกันโรค ส่งเสริมสุขภาพ ดูแลทั้งที่บ้าน ที่คลินิกหรือหน่วยบริการ และจัดการเรื่องการส่งต่อเมื่อจำเป็นอย่างเป็นระบบ พัฒนาหน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิใกล้บ้าน รพ.สต.และโรงพยาบาลชุมชนให้สะอาด น่าอยู่ ได้มาตรฐาน ปลอดภัย ประชาชนมีส่วนร่วมในการสนับสนุนอย่างใกล้ชิดให้เกิดความรู้สึกเป็น “โรงพยาบาลของเรา” โดยไม่เน้นการประกวดเพื่อแข่งขันกันล่ารางวัล แต่มุ่งเน้นการพัฒนาให้ได้มาตรฐานไปด้วยกัน มีการประสานงานเป็นเครือข่าย พี่ช่วยน้อง เพื่อนช่วยเพื่อน โรงพยาบาลขนาดใหญ่ช่วยเหลือโรงพยาบาลขนาดเล็ก โรงพยาบาลชุมชนช่วยเหลือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
3.เจ็บป่วยฉุกเฉินได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีเข้าถึงโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดใน 6 โรคที่สำคัญ คือ โรคหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด การบาดเจ็บทางสมอง ภาวะช็อคทุกประเภทและทารกแรกเกิด พัฒนาการรักษาพยาบาลระดับทุติยภูมิและตติยภูมิขั้นสูง ตาม service plan สาขาต่างๆ โดยการประสานความร่วมมือกับโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ และโรงพยาบาลในมหาวิทยาลัยแต่ละภูมิภาค ถ่ายทอดเทคโนโลยี องค์ความรู้ทางวิชาการซึ่งกันและกัน
4.เมื่อประเทศเข้าสู่สังคมสูงอายุ ต้องให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลรักษาโรคประจำตัว ส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงมีคนดูแลในครอบคัวและชุมชนและเมื่อเข้าโรงพยาบาลก็ควรได้รับการดูแลตามช่องทางที่เหมาะสม ส่งเสริมสนับสนุนให้การดำเนินงานของชมรมมีความเข้มแข็งและจัดการให้มีโรงเรียนผู้สูงอายุในทุกพื้นที่ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้การดูแลสุขภาพด้วยตนเองได้
5.ประชาชนได้รับความความคุ้มครองจากสารพิษที่ทำงายสุขภาพ มีช่องทางสื่อสารข้อมูลอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการผ่านสื่อสาธารณะและสื่อสังคมออนไลน์ สนับสนุนให้เกิดการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบเป็นแบบอย่างที่ดีในสังคม เช่น การยกเลิกถุงพลาสติกใส่ยา การยกเลิกใช้โฟมบรรจุอาหารมาใช้ในโรงพยาบาล การส่งเสริมให้บุคลากรในกระทรวงสาธารณสุขและผู้ใช้บริการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) ผลิตกระแสไฟฟ้าในโรงพยาบาลเพื่อลดต้นทุนการจัดบริการในระยะยาวให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม
6.ทำให้คนไทยเป็นเจ้าของโรงพยาบาล เข้าไปมีส่วนบริหารโรงพยาบาลร่วมกันสนับสนุนให้ข้อเสนอแนะในการพัฒนา กระจายอำนาจให้หน่วยงานในพื้นที่มีอิสระในการบริหารมากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ อย่างทันท่วงที โดยเน้นการบริหารแบบมีส่วนร่วมเป็นทีมภายใต้คณะกรรมการบริหารโรงพยาบาล และคณะกรรมการบริหารเครือข่ายสุขภาพในแต่ละพื้นที่
7.จะผลักดันให้มีระบบหลักประกันของชาวต่างชาติทุกคนที่เข้ามาบนแผ่นดินไทย มีหลักประกันสุขภาพคนต่างชาติที่มาทำงาน หรือนักท่องเที่ยวได้รับการคุ้มครองโดยให้มีการซื้อประกันของรัฐได้ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลต่างๆ
8.จะร่วมมือกับภาคประชาชนในการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยใช้หลักคนดีช่วยคนป่วย คนรวยช่วยคนจน ทำให้กองทุนหลักประกันมีงบประมาณที่เพียงพอและยั่งยืนโดยไม่เป็นปัญหาต่อการเข้าถึงบริการของประชาชน
9.ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนโดยเครือข่ายคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอําเภอและตําบล ให้ครอบคลุมเชื่อมโยงทุกพื้นที่ ประสานการดําเนินงานแก้ปัญหาสุขภาพประชาชน ทุกกลุ่มวัย ปัญหาสุขภาพจิต โรคซึมเศร้า ปัญหายาเสพติด ผ่านเครือข่ายคณะกรรมการพัฒนา คุณภาพชีวิตระดับอําเภอและตําบล
10.พัฒนาระบบการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล การควบคุมป้องกันวัณโรค การเฝ้าระวังโรคระบาด การคุ้มครอง ผู้บริโภค การควบคุมมาตรฐานทางห้องปฏิบัติการ ส่งเสริมแพทย์แผนไทย การปฏิรูปกําลังคน ด้านสุขภาพ ให้มีประสิทธิภาพ เกิดผลสัมฤทธิ์ รวดเร็ว มากยิ่งขึ้น
11.ปฏิรูปเทคโนโลยีด้านสุขภาพ โดยนําเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในระบบบริการทางด้านสุขภาพ ลดขั้นตอนกระบวนการทํางาน และระบบการบริหารจัดการ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน
12.สนับสนุน ส่งเสริม สร้างขวัญกําลังใจในการทํางานให้กับบุคลากรในทุกระดับโดยเฉพาะผู้ที่สัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจในการทํางานดูแลรับใช้ประชาชน ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต มีศักดิ์ศรีในวิชาชีพ ให้เกิดการประสานความร่วมมือระหว่างวิชาชีพเพื่อประโยชน์สุข ของประชาชนตลอดจนการสร้างขวัญกําลังใจและเสริมพลังให้กับพี่น้องอาสาสมัครสาธารณสุข ทํางานเพื่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้อย่างเต็มที่
**** ให้ไว้ ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2561***
สำนักงานสาธารณสุขอำเภอโพธิ์ไทรตระหนักถึงความสำคัญของการคุ้มครองข้อมูล ส่วนบุคคลของท่าน โดย นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล นี้ได้อธิบายการเก็บรวบรวม การใช้และเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง